ข่าวสาร*9 อันตรายจาก “สลัดผัก” ที่คุณอาจไม่เคยรู้
อันตรายจากสลัดผักที่คุณอาจไม่เคยรู้
1.ผักสดในสลัดที่มาจากแหล่งผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจพบสารปนเปื้อน ประเภทสารเคมีจากยาฆ่าแมลงเกินกว่ากำหนด หากเราไม่ได้ล้างผักทานเอง อาจมีโอกาสรับยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืช ยาฆ่าเชื้อรา ปุ๋ยเคมี อาจทำให้มีคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน กระสับกระส่าย ชักกระตุก หายใจขัด หรือหมดสติได้ (ในคนที่แพ้สารเคมีชนิดนั้นมากๆ)
2.ผักสดที่ใช้ปุ๋ยคอกในการปลูก หรือปลูกในพื้นที่ที่มีการทำปศุสัตว์ อาจเสี่ยงมีเชื้ออีโคไลที่มากับมูลของสัตว์ เช่น วัว ควาย และอาจเป็นสายพันธุ์ที่ทำให้ผู้ที่ได้รับเชื้อมีอาการท้องเสีย อุจจาระร่วงได้
3.สลัดผักที่ถูกบรรจุอยู่ในถุงเป็นเวลานาน จนเกิดน้ำขุ่นๆ ที่ก้นถุง อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อซาลโมเนลลา ที่ทำให้เรามีอาการท้องเสีย อุจจาระร่วงได้เช่นกัน
ทานสลัดผักอย่างไรให้ปลอดภัย
1.เลือกซื้อผัก จากแหล่งจำหน่ายที่ไว้ใจได้ในเรื่องของความสะอาด ปลอดภัย และถูกสุขลักษณะ
2.ล้างผักให้สะอาดก่อนทาน โดยอาจแช่ในน้ำผสมเกลือ หรือผสมน้ำส้มสายชู 10-15 นาที หรืออาจแช่ในน้ำยาล้างผักสำเร็จรูป
3.ล้างผักโดยให้น้ำก๊อกไหลผ่าน 2 นาที ล้างหลายๆ ครั้ง หากเป็นผักที่มีก้านใบ หรือมีคราบขาวตามฝัก ตามผิว ให้คลี่ใบออกมา ถูขัดเบาๆ ให้คราบขาวออกไป
4.หากสามารถเลี่ยงไปทานผักที่ปรุงสุกได้ ก็จะลดโอกาสเสี่ยงได้มากยิ่งขึ้น
ที่มา sanook
ข่าวสาร*8 4 อาชีพเสี่ยง "โรคผิวหนังจากสารเคมี"
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคผิวหนังที่เกิดจากสารเคมี เป็นโรคที่พบบ่อยมากในกลุ่มผู้ที่ทำงานก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม และอาชีพเกษตรกรรม เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้วัสดุและสารเคมีที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังอย่างแพร่หลาย มีการใช้งานที่ไม่เหมาะสม หรือหากสัมผัสถูกผิวหนังโดยตรงโดยไม่มีเครื่องป้องกัน จะทำให้เกิดการระคายเคืองเกิดผื่นคันภูมิแพ้ที่ผิวหนัง และอาจเป็นโรคผิวหนังได้
อาชีพเสี่ยงโรคผิวหนังจากสารเคมี
อาชีพที่มีความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคผิวหนังจากสารเคมีได้แก่
1.คนงานก่อสร้างที่ผสมปูนซีเมนต์
2.คนงานในโรงงานที่เกี่ยวข้องกับโลหะ เครื่องหนัง ยางสีย้อมผ้า กาวพลาสติก เส้นใยแก้ว สีพ่น รวมทั้งน้ำมันเบนซิน และน้ำมันเครื่อง
3.คนที่ต้องทำงานสัมผัสกับอุปกรณ์ที่ทำจากโลหะชุบนิกเกิล งานอุตสาหกรรมทำเครื่องหนัง ดอกไม้พลาสติก
4.เกษตรกรที่ต้องใช้ปุ๋ยสารกำจัดแมลงศัตรูพืช
ที่มา sanook
ข่าวสาร*7 พฤติกรรมเสี่ยง “มะเร็งปอด” แม้ไม่สูบบุหรี่
เอาเข้าจริงแล้ว ตัวเราเองที่ไม่ได้สูบบุหรี่เลย ก็อาจเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดได้เหมือนกันหากเข้าข่ายพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ มีสาเหตุของมะเร็งปอดอะไรที่นอกเหนือไปจากบุหรี่บ้าง มาระวังตัวกันดีกว่าค่ะ
จากสถิติที่ได้มีการรวบรวมไว้พบว่า ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดเป็นผู้ป่วยที่ไม่ได้สูบบุหรี่อยู่ประมาณ 10 - 15 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยที่ 2 ใน 3 เป็นผู้ป่วยเพศหญิง ซึ่งในช่วงหลังมานี้ ผู้หญิงที่ป่วยเป็นมะเร็งปอดในเอเชียโดยที่ไม่ได้สูบบุหรี่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งชนิดของเซลล์มะเร็งปอดที่พบในผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มมีความแตกต่างกัน
กลุ่มแรก ผู้ป่วยมะเร็งปอดจากการสูบบุหรี่ มักถูกพบเซลล์มะเร็งชนิดสแควร์มัส โดยพบเป็นก้อนอยู่ที่บริเวณทางเดินหายใจ และมักจะแสดงอาการให้เห็นเร็วกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้สูบบุหรี่ อาทิ มีอาการไอ หรือไอเป็นเลือด
กลุ่มที่สอง ผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ไม่ได้เกิดจากการสูบบุหรี่ มักถูกพบเซลล์มะเร็งชนิดอะดีโนคาร์ซิโนม่า มักถูกพบก้อนเนื้อที่บริเวณปอดในส่วนที่ห่างจากทางเดินหายใจ จึงทำให้ไม่แสดงอาการให้เห็นในช่วงแรก อาการที่พบบ่อย ได้แก่ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หายใจสั้น อาจปวดตามข้อ หรือตามกระดูกที่เกิดจากการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปตามกระแสเลือด นอกจากนี้ เซลล์มะเร็งอีกชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยที่ไม่ได้สูบบุหรี่ คือ บรองโคแอลวีโอล่าร์คาร์ซิโนม่า หรือบีเอซี จะพบได้ในผู้ป่วยที่เป็นเพศหญิง มีอายุน้อย ซึ่งเชื้อตัวนี้ในระยะหลังมีแนวโน้มที่จะถูกพบในผู้ป่วยได้มากขึ้นอย่างไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
พฤติกรรมเสี่ยง “มะเร็งปอด” แม้ไม่สูบบุหรี่
1. สูดหายใจเอาควันบุหรี่เข้าปอด
หนึ่งในกรณีที่เราอาจเข้าข่าย และเชื่อว่าหลายคนอาจจะมีโอกาสอยู่ในสถานการณ์นี้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะตามเพื่อนไปเที่ยวตามสถานที่บันเทิง ยืนท่ามกลางฝูงคนที่พ่นควันบุหรี่ตลอดเวลา การสูดเอาควันบุหรี่ของคนอื่นเข้าปอด เผลอๆ จะอันตรายยิ่งกว่าตัวคนสูบบุหรี่เองเสียอีก ดังนั้นถ้าเพื่อนรักจะสูบบุหรี่ ไล่ให้ออกไปสูบไกลๆ หรือไม่ก็ต้องย้ายตัวคุณเองนี่แหละออกมา หมดมวนค่อยเจอกัน
2. กรรมพันธุ์
เรื่องที่น่าเศร้า คือ คุณอาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งปอด หากสมาชิกในครอบครัวของคุณเคยเป็นโรคมะเร็งปอดมาก่อน โดยคุณอาจจะไม่เคยแตะต้องบุหรี่มาก่อนในชีวิตก็ได้ ดังนั้นหากคุณทราบว่าครอบครัวของคุณมีประวัติเป็นโรคมะเร็งปอดมาก่อน ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ โดยเฉพาะการตรวจปอด และอย่าลืมบอกแพทย์ด้วย
3. สูดดมสารเคมีมากเกินไป
ลองสังเกตสถานที่ทำงาน หรือละแวกรอบบ้านของคุณดูดีๆ ว่าคุณต้องผจญอยู่กับสารเคมีอันตรายเช่น สารหนู ก๊าซเรดอน รังสี ไอระเหยต่างๆ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันหรือเปล่า ไม่ว่าคุณจะทำงานในโรงงานที่เต็มไปด้วยฝุ่นละอองจากเครื่องจักร ใช้สารเคมีกลิ่นรุนแรงเพื่อผลิตสินค้า หรือแม้กระทั่งอาศัยใกล้แหล่งโรงงานที่ปล่อยของเสียทิ้งลงพื้น หรือแหล่งน้ำ ที่ส่งกลิ่นเหม็นตลอดเวลา หากมีข้อใดข้อหนึ่งตามนี้ ลองปรึกษาภาครัฐเพื่อช่วยแก้ปัญหา ก่อนที่จะสายเกินไป
อาการของผู้ที่เป็นโรคมะเร็งปอด
- ไอเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจจะไม่มีเสมหะในช่วงแรก หลังๆ อาจมีเสมหะเพราะเซลล์มะเร็งจะเริ่มอุดกั้นบางส่วนของปอด จนเกิดเป็นมูกใส หรืออาจมีสีเขียวหรือเหลืองหากติดเชื้อ
- หอบเหนื่อย หายใจลำบาก
- เจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเวลาเกร็ง หรือสูดลมหายใจแรงๆ
มะเร็งปอด รักษาอย่างไร
มีวิธีการรักษาโรคมะเร็งปอดหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความสาหัสของอาการที่พบว่าอยู่ในระยะใด มีทั้งหารผ่าตัดเอาเซลล์มะเร็งออกจากปอด การใช้เคมีบำบัด ฉายรังสี หรือการให้ภูมิคุ้มกันเพิ่ม เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งปอดอาจมีภูมิคุ้มกันผิดปกติ โดยอาจใช้วิธีเหล่านี้เดี่ยวๆ วิธีเดียว หรืออาจจะใช้หลายวิธีควบคู่กันไปก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
ที่มา sanook
ข่าวสาร*6 “ฝรั่งแช่บ๊วย” อันตราย! เสี่ยงติดเชื้อถึงเสียชีวิต
รถเข็นผลไม้ที่เป็นมิตรกับคนไทยมานานแสนนาน ทำให้เราได้บริโภคผลไม้อย่างสะดวกสบายในราคาสบายกระเป๋า แต่กลับถูกตรวจพบว่ารถเข็นผลไม้เหล่านี้เต็มไปด้วยเชื้อจุลินทรีย์ สารปนเปื้อน แบคทีเรียโคลิฟอร์ม สีสังเคราะห์ เชื้อรา และสารเคมีอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมากถึง 64% และส่วนใหญ่ดันพบในเจ้าฝรั่งแช่บ๊วยนี่แหละ โดยเฉพาะฝรั่งดองบ๊วยที่เป็นสีแดง สีเขียว
ผลไม้ปนเปื้อน ให้โทษแก่ร่างกายอย่างไรบ้าง
หากเราทานผลไม้ที่ปนเปื้อนเข้าไปในร่างกาย สามารถพบอาการได้หลายอย่าง แล้วแต่สารปนเปื้อนที่เราทานเข้าไป อาจมีอาการตั้งแต่ท้องเสีย ท้องร่วง คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ไปจนถึงหูอื้อ มีไข้ หายใจขัด ร่างกายอ่อนแอ ต้านทานโรคได้น้อยลง และอาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเมื่อทานสะสมเข้าไปเป็นเวลานาน
เคล็ดลับการล้างผักผลไม้ เพื่อลดสารพิษ ยาฆ่าแมลง สารเคมีตกค้างต่างๆ
-ล้างผักผลไม้ด้วยด่างทับทิม ช่วยลดปริมาณสารตกค้างในผักผลไม้ได้ 20-30%
-ล้างด้วยน้ำผสมน้ำส้มสายชู ช่วยลดปริมาณสารตกค้างในผักผลไม้ได้ 30-40%
-ล้างด้วยน้ำผสมผงฟู หรือเบกกิ้งโซดา ช่วยลดปริมาณสารตกค้างในผักผลไม้ได้ 30-40%
-ล้างผักด้วยวิธีน้ำไหล โดยแยกใบผัก กลีบผักออกมา แช่ในน้ำ 10 นาที จากนั้นหยิบใบผักขึ้นมา เปิดก็อกให้น้ำไหลผ่านผักและผลไม้ทีละใบ ทีละก้าน ถูๆ ให้สะอาดราว 2 นาที วิธีนี้ช่วยลดปริมาณสารตกค้างในผักผลไม้ได้ 60-70%
ที่มา sanook
ข่าวสาร*5 ตรวจพบผัก 10 ชนิดมี "สารเคมี-ยาฆ่าแมลง" ตกค้างสูง
ข้อมูลจากการตรวจการตกค้างของสารเคมีอยู่ในพืชผักที่จำหน่ายในท้องตลาดพบว่ามีผักสด 10 ชนิด ที่มีการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณสูงได้แก่ กวางตุ้ง คะน้า ถั่วฝักยาว พริก แตงกวา กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี ผักบุ้งจีน มะเขือ และผักชี
อันตรายจากการทานผักตกค้างสารเคมี-ยาฆ่าแมลง
หากได้รับยาฆ่าแมลงตกค้างในปริมาณมากจะทำให้เวียนศีรษะ หน้ามืด ท้องร่วง อาจเกิดหัวใจวายและตาย แต่ถ้าได้รับในปริมาณน้อยๆ ค่อยๆ สะสมในร่างกายจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็ง นอกจากนี้ยังตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้ออีโคไลและเชื้อซาลโมเนลลา ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษในผักที่นิยมรับประทานเป็นผักแบบสดๆ เช่น ผักกาดหอม ต้นหอม ผักชี กะหล่ำปลี ผักชีฝรั่ง โหระพา สะระแหน่ ใบบัวบก ถั่วพู แตงกวา ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการใช้ปุ๋ยจากมูลสัตว์ในการเพาะปลูก โดยเชื้อเหล่านี้จะอาศัยอยู่ในลำไส้ของสัตว์และถูกขับถ่ายออกมากับมูลของสัตว์ เมื่อนำปุ๋ยจากมูลสัตว์มาใช้ในการเกษตรเชื้อโรคนี้ก็อาจปนเปื้อนในผลผลิตได้ เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารได้
วิธีล้างผักก่อนนำมาปรุงอาหาร เพื่อลดสารเคมีตกค้างในผัก
ล้างด้วยน้ำไหล
-แช่ในน้ำนาน 15 นาที
-เปิดน้ำไหลผ่านและคลี่ใบผักถูไปมานาน 2 นาที
-แช่น้ำก่อนล้าง
วิธีที่ 1
แช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 5 เปอร์เซ็นต์ ในอัตราส่วนน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 15 นาที
-ล้างด้วยน้ำสะอาด
วิธีที่ 2
-ใช้โซเดียม ไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) ครึ่งช้อนโต๊ะผสมน้ำ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที
-ล้างด้วยน้ำสะอาด
ที่มา sanook
ข่าวสาร*4 อันตรายของไนโตรเจนเหลว เมื่อนำมาประกอบอาหาร
ไนโตรเจนเหลว เป็นสารเคมีที่มีจุดเดือดที่ -192 องศาเซลเซียส ถูกนำมาใช้อย่างหลากหลาย เช่น เป็นตัวทำความเย็นให้กับคอมพิวเตอร์ ใช้ในทางการแพทย์ ขจัดผิวหนังที่ไม่เป็นที่ต้องการ กำจัดหูด หรือเซลล์มะเร็งในระยะเริ่มแรก รวมทั้งใช้ในสภาวะที่ต้องการความเย็นอย่างมาก เพราะในทางวิทยาศาสตร์พบว่า ไนโตรเจนเหลวช่วยให้วัตถุมีอุณหภูมิที่เย็นลงได้ในเวลาอันรวดเร็ว
ไนโตรเจนเหลว ในวงการอาหาร
ปัจจุบัน มีการนำไนโตรเจนเหลวมาใช้แช่แข็งอาหาร และเครื่องดื่มกันมากขึ้น โดยเฉพาะในร้านอาหารขนาดใหญ่ หรือภัตตาคารตามโรงแรม เพราะมันสามารถทำให้อาหารแข็งได้ทันทีทันใด โดยหลักมักนำมาใช้กับการปรุงอาหารประเภทของหวาน และเครื่องดื่ม เช่น ไอศกรีม และคอกเทล แต่นอกจากนี้ ด้วยคุณสมบัติของไนโตรเจนเหลว ยังมีพ่อครัวนำเสนอเมนูทั้งของคาวของหวานกันอย่างมากมาย เช่น ไข่คนไนโตร ไนโตรคาราเมลป๊อบคอร์น ไอศกรีมพายฟักทอง และอื่นๆ
อันตรายของไนโตรเจนเหลว
ศาสตราจารย์ Peter Barham จากโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัย Bristol กล่าวว่า ไนโตรเจนเหลวนี้ จริงๆ แล้ว เมื่อเป็นก๊าซไนโตรเจน ก็ไม่ได้มีอันตรายอะไรมาก การนำไนโตรเจนมาทำให้เป็นของเหลว ต้องนำไปไว้ในที่มีอุณหภูมิต่ำ แต่เมื่อนำมาใช้งาน ต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างสูง เพราะไนโตรเจนเหลวมีอุณหภูมิที่เย็นจัดมาก และถ่ายทอดความเย็นบนสิ่งที่สัมผัสอย่างรวดเร็ว จึงอาจทำให้เกิดความเสียหายได้ หากใช้อย่างไม่เหมาะสม เช่น หกรดบนมือ บนเท้าโดยตรง เป็นต้น
ที่มา sanook
ข่าวสาร*3 6 สารอันตรายที่อาจปนเปื้อนในอาหาร ยิ่งทานเยอะยิ่งเสี่ยงร่างพัง!
มีลักษณะเป็นผงสีขาวมีชื่ออื่นๆ อีก เช่น น้ำประสานทอง สารข้าวตอก ผงกันบูด เพ่งแซ ผงเนื้อนิ่ม สารบอแรกซ์ เป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น ทำแก้ว เพื่อทำให้ทนความร้อน เป็นสารประสานในการเชื่อมทอง เป็นสารหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราในแป้งทาตัว เป็นต้น แต่แม่ค้ามักนำมาผสมในอาหาร เพื่อให้อาหารมีความหยุ่นกรอบ คงตัวได้นาน ไม่บูดเสียง่าย
อาหารที่มักพบว่ามีสารบอแรกซ์
ได้แก่ หมูบด ลูกชิ้น ทอดมัน หมูสด เนื้อสด ไส้กรอก ผลไม้ดอง ทับทิมกรอบ ลอดช่อง เป็นต้น
พิษของสารบอแรกซ์เกิดได้สองกรณี คือ
1. แบบเฉียบพลัน จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หงุดหงิด ผิวหนังอักเสบ ผมร่วง ส่วนอีกกรณีคือ
2. แบบเรื้อรัง จะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ผิวหนังแห้ง หน้าตาบวม เยื่อตาอักเสบ ตับไตอักเสบ
คำแนะนำ
1. ผู้บริโภคไม่ซื้อเนื้อหมูที่ผิดปกติจากธรรมชาติ
2. หลีกเลี่ยงสารบอแรกซ์ในอาหารโดย ไม่ซื้อหมูบดสำเร็จรูป ควรซื้อเป็นชิ้นแล้วนำมาบดหรือสับเอง
3. ไม่กินอาหารที่มีลักษณะกรอบเด้ง หรืออยู่ได้นานผิดปกติ
2. สารกันรา
สารกันรา หรือสารกันบูด เป็นกรดที่มีอันตรายต่อร่างกายมาก ซึ่งผู้ผลิตอาหารบางรายนำมาใส่เป็นสารกันเสียในอาหารแห้ง เพื่อป้องกันเชื้อราขึ้น
อาหารที่มักพบว่ามีสารกันรา
ได้แก่ น้ำผักดอง น้ำดองผลไม้ แหนม หมูยอ เป็นต้น
พิษของสารกันรา
เมื่อกินเข้าไปจะทำลายเซลล์ในร่างกายให้ตาย หากกินเข้าไปมากๆ จะทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ ความดันโลหิตต่ำจนช็อกได้ หรือในบางรายที่กินเข้าไปไม่มากแต่แพ้ จะทำให้เป็นผื่นคันขึ้นตามตัว อาเจียน หูอื้อ มีไข้
หลีกเลี่ยงพิษจากสารกันราได้โดย
เลือกกินอาหารที่สดใหม่ ไม่กินอาหารหมักดอง หรือเลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ ซึ่งได้รับการรับรองคุณภาพ มีเครื่องหมาย อย.
3. สารฟอกขาว
สารฟอกขาว หรือผงซักมุ้งหรือ สารโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ (Sodium Hydrosulfite) เป็นสารเคมีที่ใช้ฟอกแห อวน แต่แม่ค้าบางรายนำมาใช้ฟอกขาวในอาหาร เพื่อให้อาหารมีสีขาว ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
อาหารที่มักพบว่ามีการใช้สารฟอกขาว
ได้แก่ ถั่วงอก ขิงฝอย ยอดมะพร้าว กระท้อน หน่อไม้ดอง น้ำตาลมะพร้าว ทุเรียนกวน
อันตรายของสารฟอกขาว
เมื่อสัมผัสโดยตรงจะทำให้ผิวหนังอักเสบ เป็นผื่นแดง และถ้ากินเข้าไป จะทำให้เกิดอาการอักเสบในอวัยวะที่สัมผัสอาหาร เช่น ปาก ลำคอ กระเพาะอาหาร เกิดอาการปวดหลัง ปวดศีรษะ อาเจียน แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ความดันโลหิตลดลง และหากกินมากอาจเสียชีวิตได้
หลีกเลี่ยงสารฟอกขาวได้โดย
เลือกกินอาหารที่มีสีใกล้เคียงธรรมชาติ ไม่ขาวจนเกินไป
คำแนะนำ ผู้บริโภคควรใส่ใจในการเลือกอาหารที่มีความสะอาด และมีสีใกล้ธรรมชาติ จะช่วยให้ปลอดภัยจากอันตรายของสารฟอกขาว
4. สารฟอร์มาลิน
สารหอร์มาลิน (Formalin) หรือน้ำยาดองศพเป็นสารอันตรายที่แม่ค้าบางราย นำมาใช้ราดอาหารสด เพื่อให้ คงความสดอยู่ได้นาน ไม่บูดเน่าง่าย
อาหารที่มักตรวจพบว่ามีสารฟอร์มาลินปนเปื้อนอยู่
เช่น ผักสดต่างๆ อาหารทะเลสด และเนื้อสัตว์สด เป็นต้น
อันตรายของสารฟอร์มาลิน
เมื่อกินเข้าไปจะเกิดเป็นพิษเฉียบพลัน ตั้งแต่ปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน ท้องเสีย หมดสติ และอาจตายได้หากได้รับในปริมาณมาก
5. ยาฆ่าแมลง
ยาฆ่าแมลงหรือ สารเคมีสำหรับกำจัดแมลงซึ่งเกษตรกรบางคนใช้ในปริมาณมากเกินไป จนทำให้อาจตกค้างมากับผัก หรือผลไม้สด ปลาแห้ง
อันตรายจากยาฆ่าแมลง
เมื่อเรากินเข้าไปมากๆ ในครั้งเดียว จะเกิดพิษแบบเฉียบพลัน เช่น ทำให้กล้ามเนื้อสั่น กระสับกระส่าย ชักกระตุก และหมดสติ หายใจขัด และอาจหยุดหายใจได้ แต่พิษที่พบมากที่สุดคือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน เกิดสะสมในร่างกาย ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้
การหลีกเลี่ยงจากยาฆ่าแมลงที่ปนเปื้อนมากับอาหาร
เลือกกินผัก ผลไม้ตามฤดูกาล หรือผักพื้นบ้าน เลือกผักที่มีรูพรุนจากการเจาะของแมลงบ้าง กินผักใบมากกว่าผักหัว เพราะผักหัวจะสะสมสารพิษไว้มากกว่า ล้างและปอกเปลือก (ในชนิดที่ทำได้) ก่อนนำมาบริโภค และเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ผักอนามัย ผักกางมุ้ง เป็นต้น
6. สารเร่งเนื้อแดง (ซาลบูตามอล)
ในท้องตลาดผู้บริโภคเคยเห็นหมูเนื้อแดงซึ่งมีแต่เนื้อล้วนๆ ไม่มีมันเลย ซึ่งมาจากความต้องการของผู้บริโภค ที่ต้องการเนื้อแดงล้วนๆไม่มีมันเลย ผู้เลี้ยงจึงให้หมูกินสารเคมี คือ ซาลบูตามอล
ซาลบูตามอล เป็นยาสำคัญที่ใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด ช่วยในการขยายหลอดลม และมีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการเต้นของหัวใจ เมื่อมีการนำสารซาลบูตามอลไปใช้เร่งเนื้อแดงในหมู โดยให้หมูกินสารนี้ เมื่อตกค้างมาถึงผู้บริโภค
ผลข้างเคียงของสารเร่งเนื้อแดง
สารซาลบูตามอล อาจมีผลข้างเคียงทำให้มีอาการมือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กระวนกระวาย วิงเวียนศีรษะ บางรายมีอาการเป็นลม คลื่นไส้อาเจียน เป็นอันตรายมากสำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยเบาหวาน หญิงมีครรภ์
คำแนะนำ ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยง ไม่กินเนื้อหมูที่มีสารดังกล่าว โดยเลือกหมูที่มีชั้นมันหนา และเลือกหมูที่อยู่ในลักษณะสีไม่แดงมาก
ที่มา sanook
ข่าวสาร*2 ข้อควรรู้ก่อนทาลิปสติก อันตรายแฝงจากสารเคมีที่พร้อมส่งผลเสียต่อสุขภาพ
ลิปสติกที่จะขอกล่าวถึงสำหรับสาวๆ ในที่นี้คือลิปสติกที่ถูกเติมแต่งด้วยสีสันอันฉูดฉาด เน้นเติมเสน่ห์เรียวปากให้ดูดี ในปัจจุบันที่เครื่องสำอางชนิดนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เป็นหนึ่งในตัวช่วยเสริมความมั่นใจให้สาวๆ ได้รู้สึกถึงความโดดเด่นของใบหน้า ทว่าในความงามนี้กลับกลายเป็นดาบสองคม เพราะบางยี่ห้อปนเปื้อนอยู่ด้วยสารเคมีอันตรายที่เรามองไม่เห็น แถมสารเคมีที่สัมผัสโดนริมฝีปากอันบอบบาง หรือบางครั้งเผลอกลืนเข้าไปสะสมในร่างกายแบบไม่รู้ตัว อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวตามมาได้
ยิ่งสีสด ติดทนนาน ยิ่งเสี่ยงอันตราย!
ในยุคนี้เราจะเห็นว่ามีลิปสติกสีสันสดใสผลิตออกมามากขึ้น ยิ่งสีสดแค่ไหน ก็ยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเท่านั้น แถมบางยี่ห้อยังเคลมอีกด้วยว่าเป็นลิปสติกที่สามารถติดทนอยู่กับริมฝีปากได้นานตลอดวันไม่มีหลุดในการทาเพียงแค่ครั้งเดียว หารู้ไม่ว่ามันเต็มไปด้วยสารเคมีที่ไม่ควรสัมผัสถูกผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็น สารกันบูดที่มักผสมอยู่ในเครื่องสำอางทั่วๆ ไป, พาราเบน, เมธอะคริเลท, สารตะกั่วปนเปื้อน และไตรโครซาน ฯลฯ
สารเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบฮอร์โมน เข้าไปรบกวนการทำงานของสมอง กล้ามเนื้อ และอัตราการเต้นของหัวใจ นอกจากนี้จากผลการวิจัยยังแสดงให้เห็นถึงความน่าวิตกว่าสารเคมีมากมายจากลิปสติกที่เข้าไปสะสมในร่างกาย จะเป็นตัวการทำให้เชื้อโรคดื้อยาปฏิชีวนะตามมา ส่งผลให้การรักษาอาการยุ่งยากและรุนแรงมากขึ้น
เมธอะคริเลท ส่วนผสมต้องห้ามในลิปสติก
เมธอะคริเลทเป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติก แต่มันกลับถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมของลิปสติกที่มีสีฉูดฉาด ทำให้สีหลุดลอกได้ยาก สารชนิดนี้เมื่อร่างกายได้รับเข้าไปแล้ว จะส่งผลให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง ในระยะแรกจะแสดงอาการมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความถี่ในการทาของสาวๆ แต่ละคน ทั้งนี้อาการระคายเคืองที่เกิดขึ้นสามารถพัฒนากลายเป็นโรคภูมิแพ้ตัวเองที่เรารู้จักกันว่าโรค SLE ได้อีกด้วย เป็นตัวการส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายแปรปรวน ไวต่อสิ่งแปลกปลอมมากเกินปกติ เกิดภาวะอักเสบตามผิวหนัง หากไม่รีบทำการรักษาจะยิ่งลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ ของอวัยวะได้
ทางที่ดีสาวๆ ควรหลีกเลี่ยงการทาลิปสติกสีเข้ม และหันมาทาลิปมันที่ช่วยบำรุงริมฝีปากให้ชุ่มชื่นเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว เพื่อจะได้ลดความเสี่ยงจากสารเคมีอันตรายที่ปนเปื้อนมาพร้อมกับเม็ดสี หรืออาจจะเลือกเป็นลิปสติกสีอ่อนที่มีคุณภาพมาใช้ทดแทน เพียงเท่านี้ก็ทำให้เรียวปากของสาวๆ ดูสวยอวบอิ่มได้ไม่แพ้กันอย่างแน่นอนค่ะ
ที่มา sanook
ข่าวสาร*1 อ.เจษฎาเตือน! สารเคมีจากเคสมือถือกลิตเตอร์อาจเสี่ยงผิวหนังไหม้-พุพอง
เคสโทรศัพท์มือถือชนิดที่สามารถใส่ของเหลว ทั้งแบบมีสีและไม่มีสี ผสมกลิตเตอร์ หรือกากเพชรวิววับ เป็นที่นิยมในหมู่คนไทย และชาวต่างชาติมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่เห็นทีจะไม่ปลอดภัย 100% เมื่อมีรายงานข่าวจากต่างประเทศว่า เด็กหญิง 9 ขวบ เกิดเหตุของเหลวจากเคสโทรศัพท์มือถือรั่วไหล สัมผัสบนผิวหนังขณะนอนหลับทับเคส ตื่นเช้ามาพบรอยไหม้ และพุพอง
นอกจากนี้ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังเตือนว่าหากผิวหนังสัมผัสของเหลวภายในเคสมือถือ ให้รีบล้างออกด้วยน้ำเปล่ามากๆ เพื่อป้องกันผิวหนังพุพองจากสารเคมี
ที่มา sanook
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น